Biologic Monitoring

การตรวจสุขภาพสำหรับผู้ที่สัมผัสสารอันตรายในโรงงาน (Biologic Monitoring)

 

 

 


การตรวจสุขภาพเพื่อเฝ้าระวังการสัมผัสสารอันตรายในเชิงชีวภาพหรือ Biologic Monitoring นั้นเป็นการประเมินว่าพนักงานมีการสัมผัส (exposure) สารนั้นๆมากน้อยเพียงไร โดยอาศัยการตรวจวัดระดับ “ตัวชี้บ่งทางชีวภาพ (Biomarker)” ซึ่งเกิดจากการสัมผัสสารนั้นๆ ซึ่ง Biomarker ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นระดับสารนั้นเองหรืออนุพันธ์ (metabolite) นั้นในสิ่งส่งตรวจ (specimen) เช่น เลือด, ปัสสาวะ ฯลฯ ที่เก็บจากพนักงาน ตัวอย่างเช่น การสัมผัสสาร styrene นั้น เราสามารถตรวจระดับ biomarker ได้หลายรูปแบบคือ ระดับ styrene ในลมหายใจออก, ระดับ styrene ในเลือด, และระดับกรดแมนเดลิก (mandelic acid) หรือกรดเฟนิลไกลออกซีลิก (phenylglyoxylic acid) ในปัสสาวะ, หรือในการตรวจการสัมผัสตะกั่ว biomarker คือระดับตะกั่วในเลือด หรือในเส้นผม เป็นต้น นอกจากนี้ biomarker ยังอาจเป็นผลจากการสัมผัสสารนั้นๆ เช่น ระดับ zinc protoporphyrin ที่สูงขึ้นในผู้สัมผัสสารตะกั่ว เป็นต้น บุคลากรทางอาชีวเวชศาสตร์จะใช้การเฝ้าระวังทางชีวภาพนี้เป็นเครื่องมือในการประเมินความเสี่ยงของพนักงานในการสัมผัสสารเคมีอันตรายและชี้บ่งถึงประสิทธิภาพในการควบคุมของเทคโนโลยีและกระบวนการผลิต

 

 


พนักงานที่ทำงานกับสารเคมีอันตรายนั้น การสัมผัสสารเคมีอันตรายจะเกิดขึ้นเมื่อสารนั้นมีการดูดซึม (absorption) เข้าสู่ร่างกายเท่านั้น ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังจากการสัมผัสจับต้อง, การหายใจ, การกิน หรือหลายๆทางร่วมกัน ปริมาณหรือความเร็วในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะแตกต่างกันในสารแต่ละชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะขึ้นกับความสามารถในการละลายในไขมันและน้ำของสารนั้นและทางที่เข้าสู่ทางร่างกาย เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วสารเคมีก็แพร่ไปตามเนื้อเยื่อต่างๆตามคุณสมบัติของเนื้อเยื่อชนิดนั้นๆ สารที่ละลายอาจกระจายอยู่ในน้ำทั้งหมดในร่างกาย หรือสารที่ละลายได้ดีในไขมันจะสะสมในสมองซึ่งมีไขมันมาก เป็นต้น สารเคมีเมื่อเข้าสู่ในร่างกายจะมีการขับออกได้หลายทาง เช่น อุจจาระ, ลมหายใจ, ปัสสาวะ หรือออกมาทางน้ำนมก็ได้ ซึ่งรูปแบบที่ขับออกมาจากร่างกายอาจเป็นรูปเดียวกับที่เข้าสู่ร่างกาย หรือมีการเปลี่ยนแปลงโดยขบวนการทางเคมี เช่น hydrolysis, oxidation หรือหลายๆปฏิกิริยาร่วมกันก็ได้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มักเกิดขึ้นที่ตับ, ไต ซึ่งมีอวัยวะหลักในการขับสารเคมี หรือสารพิษออกจากร่างกาย

 

 

กล่าวโดยสรุป สารเคมีเข้าสู่ร่างกายซึ่งสามารถเข้าได้หลายทาง ผิวหนัง, การหายใจ, กิน ฯลฯ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะกระจายไปในน้ำ, ระบบอวัยวะต่างๆ ขึ้นกับสารชนิดต่างๆ ซึ่งตับและไตจะเป็นอวัยวะหลักในการปรับเปลี่ยนสารเคมีนั้นๆเกิดเป็นสารอนุพันธ์ต่างๆ แล้วขับออกจากร่างกายต่อไป

ดังนั้น หลักการในการเฝ้าระวังการสัมผัสสารเคมีอันตรายในผู้ทำงาน โดยการตรวจวัดระดับ Biomarker ซึ่งอาจเป็นสารนั้นๆ, อนุพันธ์ของมัน หรือผลต่อสารนั้นๆที่มีต่อร่างกายก็ได้ ทั้งนี้การจะเลือกตรวจอะไรจะขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย เช่น เทคโนโลยีที่ใช้ตรวจได้หรือไม่, ความคุ้มค่า, การตรวจไม่เป็นอันตรายต่อผู้สัมผัสสารเกินไป ฯลฯ ซึ่งอาจสรุปได้เป็น 2 กลุ่มคือ

ตรวจโดยตรง คือการตรวจสารนั้นหรืออนุพันธ์ของมัน เช่นตรวจระกับตะกั่วในเลือดในพนักงานที่สัมผัสตะกั่ว, ตรวจระดับฟีนอลในปัสสาวะในพนักงานที่สัมผัสสารเบนซินเป็นต้น
ตรวจโดยอ้อม ปัจจุบันนี้สารเคมีในอุตสาหกรรมมีมากมาย ซึ่งจำนวนไม่น้อยไม่สามารถตรวจวัดระดับของสารนั้นหรืออนุพันธ์ของมันโดยตรง แต่อาศัยข้อเท็จจริงที่ทราบว่าสารนี้มีผลอย่างไรกับร่างกาย เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วเปลี่ยนแปลงอย่างไรที่อวัยวะใด (ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ตับ,ไต) ก็ตรวจประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง เช่น ผู้ที่ทำงานสัมผัสกรดไฮโครคลอริก ซึ่งมีผลระคายเคืองต่อระบบการหายใจ ก็ตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด หรือเอกซเรย์ปอด เป็นต้น

Visitors: 225,896